วันอังคารที่ 8 กันยายน พ.ศ. 2552

ภัยสังคมสายพันธุ์ใหม่

ภารกิจพิชิตภัยเกม



เด็กติดเกม ปัญหาใหญ่ยุคไอที นำสู่ข้อเสนอ Game School Eureka โรงเรียนสอนเล่นเกม เร่งสกัดก่อนบานปลาย

แม้จะตกเป็น "ข่าวร้าย" ไปไม่รู้กี่ครั้ง แต่เด็กกับเกมก็ยังสนิทสนมกลมเกลียวกันเหมือนเดิม จะมีตีตัวออกห่างไปบ้างถ้าสังคมจับตามอง รอสักพักให้เรื่องซา วังวนเดิมๆ ก็จะเวียนกลับมาซ้ำ จนวันหนึ่ง มีคนคิดตั้ง "โรงเรียนสอนเล่นเกม" ขึ้นมา...

Stage 1: เด็กติดเกม
ปัจจุบันเด็กสามารถหาเสพเกมได้ง่าย เนื่องจากเครื่องคอมพิวเตอร์กลายเป็นของสามัญประจำบ้านไปแล้ว หรือถ้าไม่มี ก็แค่เดินออกจากบ้านไปไม่กี่ก้าว ก็เจอร้านอินเตอร์เน็ตคาเฟ่พร้อมเสิร์ฟ สนนราคาต่อชั่วโมงถูกกว่านั่งรถเมล์ติดแอร์เสียอีก

ด้วยเหตุนี้ แม้พ่อแม่จะห้ามหรือสอดส่องดูแลแค่ไหน "เด็กติดเกม" ก็เพิ่มขึ้นอยู่ดี

เด็กติดเกม คือ เด็กที่มีความต้องการในการเล่นเกมสูงมากกว่าปกติทั่วไป และพวกเขายังสามารถทำได้ทุกอย่างเพื่อให้ได้เล่นเกม เวลาไม่ได้เล่นหรือถูกห้าม ก็จะออกอาการนั่งไม่ติด อยู่ไม่สุข น้องๆ อาการเสี้ยนยา ก็ว่าได้

เด็กติดเกมแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่มที่พ่อแม่ให้การสนับสนุน กลุ่มนี้จะได้รับเงินมาเล่นเกมจากพ่อแม่
(ที่ไม่มีเวลาดูแล) ซึ่งบางรายได้มาจำนวนมากก็จะอยู่เล่นเกมแบบมาราธอนข้ามวันข้ามคืนโดยไม่กลับบ้าน เมื่อเงินหมดจึงจะกลับไปเอาเงินสักครั้งหนึ่ง

อีกกลุ่มหนึ่ง คือกลุ่มที่ไม่มีเงินมาเล่น ก็จะทำทุกอย่างเพื่อหาเงินมาเล่นเกม ไม่ว่าจะลักเล็กขโมยน้อย หรือใช้วิธีการผิดกฎหมายอื่นๆ ก็ยอม ซึ่งกลุ่มหลังนี้จะง่ายต่อการถูกล่อลวงจากแก๊งมิจฉาชีพ อย่างไรก็ตาม ในระดับความน่าเป็นห่วง ทั้งสองกลุ่มมีอยู่เท่าๆ กัน กลุ่มแรก อยู่ที่วิธีคิดของพ่อแม่ แต่กลุ่มหลัง ปัญหาคือพฤติกรรมเด็ก

จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ พบว่า เด็กติดเกมหลายคนหนีออกจากบ้านเพื่อมาเล่นเกมตามร้าน เด็กเหล่านี้เริ่มแรกจะมีพฤติกรรมใช้เงินเก่ง หายตัวอยู่บ่อยๆ จากนั้นก็จะเริ่มโกหก หนีโรงเรียน ขโมยเงิน ขโมยของไปขาย จนกระทั่งหนีออกจากบ้านเพื่อไปเล่นเกม เมื่อหนีออกไปนานๆ ก็เกิดความกลัวและไม่กล้ากลับบ้าน เพราะกลัวถูกพ่อแม่ทำโทษ จนต้องกลายเป็นเด็กเร่ร่อน หาเงินเล่นเกมด้วยการขอทาน รับจ้างทำงานเล็กๆ น้อยๆ และเริ่มคบเพื่อนที่โตกว่า หากโชคร้ายก็อาจถูกชักชวนให้ดมกาวและติดยาเสพติดในที่สุด

นอกจากนี้ พฤติกรรมของเด็กติดเกมยังได้ส่งผลกระทบมาสู่ตัวเด็กทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิต

นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ เผยถึงโทษของการติดเกมว่า การเล่นเกมหรือใช้อินเตอร์เน็ตนานๆ ส่งผลเสียต่อสุขภาพกาย แสบตา ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย

"ส่วนสุขภาพจิต เช่น เกิดความขัดแย้งในจิตใจหรือขัดแย้งกับผู้คนรอบข้างได้ เพราะเคยชินกับการได้ดั่งใจ นอกจากนี้อาจรุนแรงถึงโทษต่อการผลิตผลงานในชีวิต เช่น สอบตก เสียการเรียน เสียความสัมพันธ์กับคนในครอบครัว ทำให้เป็นเด็กก้าวร้าว"

Stage 2: โรงเรียนสอนเล่นเกม
เมื่อปีที่แล้วได้เกิดเหตุการณ์อันน่าเศร้าสลดและเป็นที่ฮือฮากันไปทั่ว เด็กมัธยมคนหนึ่งเลียนแบบพฤติกรรมของตัวละครจาก GTA เกมดังฟากตะวันตก จนนำไปสู่คดีฆาตกรรมคนขับแท็กซี่ ด้วยเหตุนี้เองทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจึงหันมาตื่นตัวกับเรื่องภัยจากเกม และปัญหาเด็กติดเกมกันอย่างเอาจริงเอาจัง แต่โดยธรรมชาติของข่าว พอผ่านไปสักระยะ ข่าวชิ้นนี้ก็เงียบลง จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวเล็กๆ ของ "โรงเรียนสอนเล่นเกม (Game School Eureka)" เกิดขึ้น

Game School Eureka เป็นโรงเรียนสอนการเล่นเกมแห่งแรกของประเทศไทย หรือจริงๆ แล้วเป็นโรงเรียนชั่วคราวที่ถูกจัดขึ้นมาในงานไทยแลนด์ เกมโชว์ 2009 หรือ มหกรรมเด็กเล่นเกมครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 9-11 มกราคมที่ผ่านมาภายใต้ความร่วมคือของกระทรวงวัฒนธรรม และบริษัทโชว์โนลิมิต จำกัด

ลัดดา ตั้งสุภาชัย ผู้อำนวยการกลุ่มเฝ้าระวังทางวัฒนธรรม เล่าถึงที่มาของกิจกรรมในครั้งนี้ว่า จากเมื่อปีที่แล้วที่เด็กมัธยมเล่นเกมแล้วเลียนแบบจนเกิดเป็นคดีความขึ้นมา เราคิดว่ามันรุนแรงขึ้นทุกวัน จึงชวนผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งผู้ประกอบการด้านเกม นักจิตวิทยา นักพัฒนาการเด็ก พ่อ-แม่เด็ก รวมทั้งตัวเด็กมาคุยกัน มันก็เลยตกผลึกว่าเราต้องเปิดพื้นที่ให้กับเด็กๆ แล้วพื้นที่ดีให้เด็กๆ ก็คือให้เด็กได้แสดงออก เพื่อให้เกิดความเข้าใจว่าเกมที่มันรุนแรง พ่อ-แม่จะเข้าไปดูแลอย่างไร จึงเป็นที่มาของงานตรงนี้ขึ้น

"คุณพงศ์สุข (หิรัญพฤกษ์) จาก บ.โชว์โนลิมิตฯ ซึ่งร่วมจัดงานไทยแลนด์เกมส์โชว์ ได้เข้ามาเสนอแนวคิดนี้ หลายฝ่ายก็มองว่าดีจึงเกิดเป็นนิทรรศการเกมดี และโรงเรียนสอนการเล่นเกมขึ้นมา"
โรงเรียนสอนการเล่นเกมแห่งนี้ถูกตั้งขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กและผู้ปกครอง สอนพ่อแม่ ผู้ปกครองให้รู้ทันเด็ก สอนเด็กให้รู้ทันเกม และสุดท้ายเพื่อสร้างนักผลิตเกมรุ่นใหม่

"โรงเรียนสอนการเล่นเกม มีขึ้นเพื่อสร้างจิตสำนึก เหมือนกับการฉีดวัคซีนให้กับพ่อ แม่ ให้ข้อมูลกับเด็ก พ่อ แม่ต้องเข้าใจเด็ก เด็กต้องเข้าใจเกม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าเกมมีทั้งสร้างสรรค์และไม่สร้างสรรค์ แต่ถ้าเราฉีดวัคซีนให้เด็กมีภูมิคุ้มกัน เด็กก็จะมองเห็นและเข้าใจว่าเกมไหนที่มันไม่ดีเล่นแล้วมันไม่มีประโยชน์ แต่เกมที่ดีเมื่อเขาเล่นแล้วมันจะสร้างอะไรบ้าง สร้างเซลล์สมองส่วนไหนบ้าง สร้างศักยภาพอะไรให้เขาบ้าง ไม่ทำความเดือดร้อนให้กับสังคม และถามว่านั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการไหม นั่นคือสิ่งที่พ่อแม่ต้องการ" ลัดดา อธิบาย

การเฟ้นหาผู้ที่เข้ามาดูแลในส่วนของโรงเรียนสอนการเล่นเกมแห่งนี้ ลัดดาตอบว่า มาจากกลุ่มคนที่ทำงานวิจัยเรื่องของการพัฒนาการเด็ก จิตวิทยา โปรแกรมเมอร์ และเซียนเกมส์ต่างๆ ทั้งหมดผ่านการคัดสรรมาเป็นอย่างดี

สำหรับหลักสูตรของโรงเรียนสอนการเล่นเกม แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ ส่วนของเด็ก ส่วนของพ่อแม่และผู้ปกครอง และส่วนของผู้พัฒนาเกม

ศักดิ์สิริ จามพันธ์ ผู้พัฒนาหลักสูตรโรงเรียนสอนการเล่นเกม บอกถึงที่มาของหลักสูตรทั้ง 3 นี้ว่าเกิดจากประสบการณ์ที่สั่งสมมา เอกสารต่างๆ จากหลายที่มารวมกัน และนำสิ่งเหล่านั้นมาพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร นอกจากนี้ยังได้รับความร่วมมือจากผู้มีประสบการณ์หลายคน เช่น อิทธิพล ปรีติประสงค์ นักวิชาการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น

"ค่อนข้างมั่นใจว่าหลักสูตรนี้จะสามารถแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้ และช่วยลดช่องว่างระหว่างเด็กกับผู้ปกครอง ถ้าคนที่เข้ามาฟังการสอน ได้นำสิ่งที่ได้ฟังไปปรับใช้ แต่ถ้าเขาฟังแล้วเดินออกไปเฉยๆ ไม่ได้เอาไปปฏิบัติก็จะไม่เกิดประโยชน์อะไร"

ในเรื่องที่ว่าโรงเรียนสอนการเล่นเกมจะได้รับการพัฒนาไปสู่การเป็นสถาบันถาวร หรือหลักสูตรหนึ่งในแบบเรียนของเด็กและเยาวชน ธีระ สลักเพชร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ตอบรวมๆ ว่า การเปิดหลักสูตรสอนเล่นเกมถือเป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม หากจะผลักดันให้จัดตั้งเป็นสถาบันสอนขึ้นมานั้น จะต้องมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงความเหมาะสมและความจำเป็นในการจัดตั้ง ขณะนี้ถือเป็นการเริ่มต้นการเปิดหลักสูตรเป็นครั้งแรกจึงอยากรับฟังกระแสตอบรับจากพ่อแม่และผู้ปกครองว่าเป็นอย่างไร แต่ในส่วนของการดำเนินป้องกันเกมที่รุนแรงนั้น ผมจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้อย่างจริงจัง

Stage 3: เรตติ้งเกม
"เกมแต่ละเกมในปัจจุบัน ทำให้เด็กติดเกมเพราะต้องเล่นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นควรจะมีเกมที่สร้างสรรค์ให้มากขึ้นกว่านี้" เสียงหนึ่งจากผู้ปกครอง(ไม่ประสงค์ออกนาม) ของเด็กที่หายตัวไปจากบ้านด้วยปัญหาติดเกม

จากปัญหาที่เกมตามท้องตลาดส่วนใหญ่มีเนื้อหารุนแรง และเด็กสามารถเข้าถึงเกมเหล่านั้นได้ง่าย นอกจากการทำโรงเรียนสอนการเล่นเกมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาแล้ว ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนก็เห็นพ้องต้องกันว่าควรจะมีการจัดเรตติ้งเกม และสร้างกระแสนิยมให้กับเกมดี และสร้างสรรค์

"เทรนด์การเล่นเกมในตอนนี้คือเด็กๆ ชอบความรุนแรง เพราะเป็นกระแสที่ถูกพูดถึง เราได้คำพูดของน้องคนหนึ่งชื่อ วศิลป์ ตู้จินดา ซึ่งเป็นตัวแทนเยาวชนแก้ไขปัญหาเกม น้องเขาบอกว่าเราต้องสร้างเทรนด์เกมดี คือต้องทำยังไงก็ได้ให้เด็กเขาเห็นว่าเกมดีเล่นแล้วเท่เล่นแล้วสนุก เกมดีๆ ในสังคมยังมีอีกเยอะ และผู้ใหญ่อย่ามองว่าเด็กที่เล่นเกมเป็นศัตรู อย่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ฉันเข้าไม่ถึงหรือฉันไม่มีเวลา จริงๆ แล้วในต่างประเทศ สังคมที่สร้างเกม เขาไม่มีปัญหาเรื่องเด็กติดเกมขนาดนี้ เพราะพ่อแม่มีส่วนในการเลือกเนื้อหาให้ลูก" พงศ์สุข หิรัญพฤกษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทโชว์โนลิมิต จำกัด ชี้อีกมุม

เมื่อถามว่าเกมที่ดีและเหมาะกับเด็กควรมีลักษณะอย่างไร คำตอบในใจของใครหลายคนน่าจะเหมือนกัน คือเกมที่ดีจะต้องไม่มีพิษมีภัยกับเด็กจะต้องเป็นเกมที่ไม่มีเนื้อหาและภาษาที่รุนแรง ไม่มีเรื่องเพศเข้ามาเกี่ยวข้อง

"เกมบางเกม เช่นฟุตบอล หรือเกมกีฬา ถามว่ามันรุนแรงไหม มันก็มี แต่ถ้าเขาใช้วิธีวางแผน กับเกมซูมา ซึ่งเป็นเกมวางแผน ก็จะได้ฝึกการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ว่าเวลาที่มันมีปัญหารุมเร้าเยอะๆ เราจะจัดการยังไงให้งานมันเคลื่อนไปได้ เพราะฉะนั้นเด็กเองก็เหมือนกัน การบ้านก็ต้องทำ แม่ก็ต้องใช้(งาน) ไหนจะต้องเล่นเกมอีก เขาจะทำอย่างไรกับชีวิต เขาก็ต้องรู้จักแบ่ง" ลัดดา ตั้งสุภาชัย ให้ความเห็น

ในเรื่องของการจัดเรตติ้งเกม ถือว่านับเป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่นำการจัดเรตติ้งมาใช้กับเกม

พงศ์สุข พูดถึงเรื่องการจัดเรตติ้งเกมว่า "ดีกว่าการเซนเซอร์ ปิดๆ เบลอๆ" เขาขยายความต่อว่าถ้ามีเรตติ้งและมีมาตรการในการบังคับใช้ก็จะแสดงว่าเราเป็นประเทศที่เจริญแล้ว ให้เกียรติคนด้วยการเชื่อในวิจารณญาณของเขา ซึ่งสิ่งนี้พ่อแม่ต้องเข้ามาเรียนรู้ด้วยว่าเกมแต่ละเกมมีเรตติ้งเท่าไหร่

ในต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น อังกฤษ อเมริกา ญี่ปุ่น พวกนี้เขาคุมได้หมดเพราะระบบการขายของเขาเป็นลิขสิทธิ์แท้ขายในเมกาสโตร์

การจัดเรตติ้งเกมในครั้งนี้ถูกจัดขึ้นในงานมหกรรมเด็กเล่นเกมครั้งที่ 3 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ปกครองเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดเรตติ้งเกม โดยการเปิดเกมให้กับผู้ปกครองได้ชมและลงคะแนนว่าเกมไหนควรจะอยู่ในหมวดไหน

"ในการจัดเรตติ้งเกมส์เราจะไม่ใช้ตัวเลขอายุมาทำให้ผู้ปกครองสับสน แต่เราจะใช้โลโก้และสัญลักษณ์แบบเดียวกับเรตติ้งในทีวี โดย น.จะมีอายุกำกับ 13+, 15+หรือ18+ ถ้าเป็นฉ.คือ20+, 20ขึ้นไปเป็นเกมส์ผู้ใหญ่" พงศ์สุข อธิบายต่อว่า เรตติ้งเกมจะช่วยให้เด็กและเยาวชนได้เล่นเกมที่สอดคล้องกับอายุ และวัยของพวกเขา

Last stage
ปัญหาภัยคุกคามจากเกมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น เด็กติดเกม เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบ หรือปัญหาเด็กหายออกไปจากบ้าน ปัญหาเหล่านี้จะสามารถหายไปจากสังคมไทยได้ ถ้าทุกคนตระหนัก และทำความเข้าใจถึงปัญหาที่เกิดขึ้นร่วมกัน

สุดท้ายปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขได้หรือไม่นั้น ก็อยู่ที่ว่าพ่อ แม่ ผู้ปกครอง และเด็กจะสามารถทำความเข้าใจกันได้มากน้อยเพียงใด เพราะถ้าทำไม่ได้ แทนที่ทุกอย่างจะจบลงด้วยคำว่า Mission Complete จะกลับกลายเป็น

Game Over…



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น