วันอาทิตย์ที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2552

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน


View

Image3

Image4

Image5

อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน

เป็นของคนไทยทุกคน โปรดช่วยกันรักษาไว้ให้ลูกหลานของเรา
ข้อมูลทั่วไป

พื้นที่ อุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันเป็นส่วนหนึ่งของป่าสงวนแห่งชาติป่า ฝั่งซ้ายแม่น้ำภาชี อยู่ในเขตการปกครองของตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ ตำบลตะนาวศรี ตำบลท่าเคย อำเภอสวนผึ้ง และตำบลบ้านคา ตำบลบ้านบึง กิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี พื้นที่แห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในอดีตเคยอยู่ภายใต้อิทธิพลของพรรค คอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย มีการต่อสู้ระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับผู้ก่อการร้าย คอมมิวนิสต์อย่างรุนแรงเกิดความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินอย่างมากมาย ต่อมารัฐสามารถควบคุมพื้นที่ได้จนเกิดความสงบสุขในพื้นที่แห่งนี้ แล้วได้ดำเนินการวางแผนที่จะเร่งรัดพัฒนาฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าใน ส่วนที่ถูกทำลายให้สอดคล้องกับพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และส่งเสริมพัฒนาอาชีพแก่ราษฎรในพื้นที่ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในการนี้ มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยกองศิลปาชีพ ร่วมกับกองทัพบก กรมป่าไม้ กรมชลประทาน กรมพัฒนาที่ดิน จังหวัดราชบุรี และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการอนุรักษ์เพื่อจัดทำเป็น “อุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน” ณ บริเวณบ้านไทยประจัน ตำบลยางหัก อำเภอปากท่อ โดยจัดให้เป็นสวนพฤกษศาสตร์ ตลอดจนจัดให้มีการส่งเสริมงานศิลปาชีพให้แก่ราษฎรในพื้นที่ ตั้งแต่มีนาคม 2534 เป็นต้นมา

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณาแล้วเห็นว่า พื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจันในเขตป่าสงวนแห่งชาติป่าฝั่ง ซ้ายแม่น้ำภาชี เนื้อที่ 240,246 ไร่ ยังคงมีสภาพป่าที่อุดมสมบูรณ์และมีแหล่งท่องเที่ยวสวยงามหลายแห่งเห็นสมควร เร่งประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ จึงให้สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5 ดำเนินการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นเขตอุทยานแห่งชาติ และให้ดำเนินการสำรวจพื้นที่เบื้องต้นบริเวณบ่อพุน้ำร้อน เพื่อดำเนินการจัดตั้งเป็นวนอุทยาน

สำนักบริหารจัดการในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 5 ได้พิจารณาแล้ว เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปตามสั่งการของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ดังกล่าว ประกอบกับพื้นที่บ่อพุน้ำร้อนอยู่ในโครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน จึงให้หัวหน้าโครงการฯ ไปดำเนินการสำรวจความเหมาะสมของพื้นที่โครงการอุทยานเฉลิมพระเกียรติไทย ประจัน และบริเวณใกล้เคียงเพื่อจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติต่อไป

Image6
Image7
Image8

Image9
Image10
Image11

Image12
Image13
Image14

ลักษณะภูมิประเทศ

เป็น เทือกเขาสูงสลับซับซ้อนวางตัวในแนวเหนือใต้อยู่ทางด้านตะวันตกของจังหวัด ราชบุรี จนไปจดประเทศสภาพพม่า ครอบคลุมพื้นที่ 349.59 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภอปากท่อ อำเภอสวนผึ้ง และกิ่งอำเภอบ้านคา จังหวัดราชบุรี ยอดเขาสูงสุดชื่อ เขายืดหรือเขาพระรอบ มีความสูงประมาณ 834 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ลักษณะธรณีของพื้นที่เป็นหินตะกอน ประกอบด้วยหินกรวดมน หินชั้น หินปูน หินดินดาน และหินทราย สภาพดินมีความอุดมสมบูรณ์สูง ปกคลุมไปด้วยอินทรีย์วัตถุ ดินเป็นดินร่วนปนทราย มีการดูดซึมน้ำได้อย่างดี เทือกเขาป่าแม่ประจันเป็นแหล่งต้นน้ำของลำห้วยหลายสาย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของห้วยพุไทร ห้วยท่าเคย ห้วยพุน้ำร้อน ลุ่มน้ำแม่ประจัน ไหลลงแม่น้ำเพชรบุรีและลุ่มแม่น้ำภาชี ซึ่งไหลลงสู่แม่น้ำกลอง

ลักษณะภูมิอากาศ

สภาพ อากาศค่อนข้างหนาวเย็นตลอดปี โดยได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมจากตะวันตกเฉียงใต้ในช่วงฤดูฝน และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงฤดูหนาว แบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม ถึง เดือนมิถุนายน ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ถึง เดือนตุลาคมและฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึง เดือนกุมภาพันธ์

พืชพรรณและสัตว์ป่า

ลักษณะ ทั่วไปของสังคมพืชในอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจันประกอบด้วย ป่าเบญจพรรณ ครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตกของพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ชนิดพันธุ์ไม้มีสำคัญของ ได้แก่ ประดู่ แดง ตะแบก เสลา ส้าน มะค่าโมง ตะค้อ ตะคร้ำ สมอพิเภก เลี่ยน กะบก มะกอก ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ไผ่ไร่ ไผ่ซาง ไผ่บง และไผ่ข้าวหลาม เป็นต้น ป่าดิบแล้ง ครอบคลุมพื้นที่ทางด้านตะวันตกและทางด้านเหนือ ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ยางขาว ยางแดง ตะเคียน ยมหอม จำปาป่า รัก จำปีป่า กระบาก มะม่วงป่า ตะแบก มะหาด มะไฟป่า สะเดาป่า ฯลฯ พืชพื้นล่าง ได้แก่ ไผ่บง ไผ่เฮียะ ต๋าว หวาย ปาล์ม เฟิน เป็นต้น

บริเวณพื้นที่อุทยานแห่งชาตินี้ยังคงสภาพที่อุดมสมบูรณ์อยู่ มาก และเนื่องจากป่าเป็นผืนเดียวกันกับอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแม่น้ำภาชี และประเทศสหภาพพม่า จึงมีการย้ายถิ่นฐานของสัตว์ป่าไปมาอยู่เป็นประจำ ที่พบเห็นได้แก่ กวางป่า กระทิง เก้ง กระจง หมี หมูป่า ลิง ค่าง ชะนี อีเห็น ชะมด เสือไฟ หมูหริ่ง บ่าง หมาไน เม่น ลิ่น พังพอน ค้างคาว กระต่ายป่า กระรอก กระแต และหนูป่า นกที่พบเห็น ได้แก่ นกเงือกสีน้ำตาล นกกาฮัง นกแก๊ก นกเงือกกรามช้างปากเรียบ นกเงือกดำ เหยี่ยว นกเค้า นกปรอด นกกระปูด นกกางเขนน้ำ นกขมิ้น นกกระทาดง นกขุนทอง นกแซงแซว นกตะขาบ นกหัวขวาน นกเขียวก้านตอง นกแซวสวรรค์ ไก่ป่า นกยางเขียว และนกบั้งรอกใหญ่ สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกที่พบเห็นได้แก่ เขียดหิน กบภูเขา คางคก ปาด และอึ่งอ่าง สัตว์เลื้อยคลานที่พบเห็น ได้แก่ ตะพาบ เต่า งู ตะกวด ตุ๊กแก กิ้งก่า จิ้งเหลน และแย้ ปลาที่พบเห็น ได้แก่ ปลาค้อ ปลาตะเพียนทราย ปลาหมอช้างเหยียบ ปลาซิวหางแดง ปลาก้าง ปลาไส้ต้นตาแดง ปลาแป้นแก้ว ปลาซิวใบไผ่ ปลาพลวง ปลาตะเพียนน้ำตก ปลาซิวควายแถบดำ ปลาหนามหลัง และปลาอีด เป็นต้น

ผู้เข้าชมข้อมูลของอุทยานแห่งชาติเฉลิมพระเกียรติไทยประจัน : 25,706 คน/ครั้ง
ปรับปรุง : 3 ธันวาคม 2551

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น